1.อ่านสัญญาเช่าอย่างละเอียดทุกหน้า
ก่อนเซ็นสัญญาใด ๆ เราต้องทำการอ่านรายละเอียดสัญญาฉบับนั้นก่อนเสมอ ผู้ประกอบการหรือผู้ต้องการเช่าโรงงานหรือโกดังคลังสินค้าควรอ่านรายละเอียดในสัญญาและทำความเข้าใจเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญาอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาสัญญาเช่า ซึ่งสัญญาเช่าโดยปกติแล้วจะมีอายุ 3 ปี ส่วนสัญญาเช่าใดๆ ที่มีอายุเกินกว่า 3 ปี จำเป็นต้องจดทะเบียนไว้กับกรมที่ดิน นอกจากนี้อย่าลืมส่วนของราคาค่าเช่าต่อเดือน จำนวนค่ามัดจำและค่าเช่าล่วงหน้าที่ต้องจ่ายในการเซ็นสัญญาเช่า
2.ภาษีที่เกี่ยวข้องและค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายในการเช่าโรงงาน โกดังหรือคลังสินค้านั้นตามปกติแล้วผู้เช่าต้องทำการหัก ณ ที่จ่าย 5% ของค่าเช่า และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งโรงงานและโกดังคลังสินค้าจะจัดอยู่ในประเภทที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นนอกจากการประกอบเกษตรกรรมและเป็นที่อยู่อาศัย มีอัตราการเสียภาษีตามมูลค่าราคาประเมินของทรัพย์สินนั้นๆ ส่วนฝ่ายใดจะเป็นผู้รับชอบภาษีส่วนนี้นั้น เป็นการตกลงระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่าซึ่งควรระบุไว้ในสัญญาเช่าให้ชัดเจน
3.ตรวจสอบความเป็นเจ้าของทรัพย์ที่เช่า
ก่อนเซ็นสัญญาเช่าโรงงานและทำการจ่ายเงินมัดจำ ผู้ต้องการจะเช่าโรงงานหรือโกดังคลังสินค้าควรตรวจสอบความเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ต้องการจะเช่าว่า ผู้ที่เราทำสัญญาด้วยนั้นเป็นเจ้าของหรือมีสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่านั้นจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันการแอบอ้างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยสามารถตรวจสอบได้ได้จากโฉนดที่ดิน หนังสืออนุญาตก่อสร้าง หรือสัญญาเช่าช่วงของทรัพย์ที่จะเช่า เป็นต้น โดยที่ผู้ให้เช่าควรแนบหลักฐานการเป็นเจ้าของทรัพย์ที่เช่าไว้ท้ายสัญญาด้วย
4.กฎระเบียบของโครงการ
ในกรณีที่อาคารโรงงานหรือโกดังคลังสินค้าที่ต้องการจะเช่าตั้งอยู่ในโครงการ ผู้เช่าควรศึกษากฎระเบียบของโครงการนั้น ๆ ให้ครบถ้วน ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของโครงการ ซึ่งโดยปกติแล้วกฎระเบียบของโครงการควรระบุอยู่ในสัญญาเช่าด้วยเช่นกัน
5.ประกันภัยอาคารโรงงานหรือโกดังคลังสินค้า
การประกันภัยในอาคารโรงงานหรือโกดังคลังสินค้านั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากโดยเฉพาะสำหรับโรงงานหรือโกดังคลังสินค้าให้เช่า ทั้งการประกันภัยในส่วนของอาคารและการประกันภัยสำหรับเครื่องจักรอุปกรณ์และสินค้าต่าง ๆ ของผู้เช่า ในสัญญาเช่าควรระบุให้ชัดเจนว่าหน้าที่ในการทำประกันภัยของทั้งสองส่วนนี้ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบทำประกัน เพื่อเป็นการป้องกันเหตุไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดได้ในอนาคต